วันศุกร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2557

หมู่บ้านม้งเข็กน้อย

หมู่บ้านม้งเข็กน้อย ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ภาพถ่ายในมุมสูงของหมู่บ้าน


ทางเข้าหมู่บ้าน

ประวัติม้งเข็กน้อย
ชุมชนม้งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2514-ปัจจุบัน โดยมีช่วงระยะเวลาพัฒนาชุมชนดังนี้
ราษฏรชุมชนเข็กน้อยกระจายกันอยู่ระหว่างรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์-พิษณุโลก และเลย 

ประวัติความเป็นมาของบ้านเข็กน้อย              ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ได้อพยพจากจังหวัดเชียงราย พะเยา และน่าน มาอาศัยอยู่ในเขตรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย เมื่อ พ.ศ. 2488และได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามพระราชบัญญัติลักษณะปกค รองท้องที่ พ.ศ. 2475 หลายหมู่บ้าน เช่น บ้านเข็กเก่า บ้านป่าหวาย บ้านห้วยทราย บ้านแม้วหัวผา บ้านเขาขาด ฯลฯ โดยราษฎรยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เพื่อการยังชีพ 
              บ้านเข็กน้อย ได้รับการประกาศจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นตำบล เมื่อปี 2532 โดยมี นายประจวบ ฤทธิ์เนติกุล เป็นกำนัน     ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นสภาตำบลเมื่อปี พ.ศ. 2537 และได้รับการยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย ชั้น 5 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 
ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลเข็กน้อย ได้รับการปรับขนาดเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง






ประเพณีไทย ปีใหม่ม้ง

ประเพณีไทย ปีใหม่ม้ง


ประวัติย่อ
   ประเพณีไทย ปีใหม่ม้ง ที่หมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งประเพณีปีใหม่ของพวกเขาตรงกับ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 2 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลาระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี ซึ่งในวันปีใหม่นี้ของชาวม้งจัดเป็นงานประเพณีที่ชาวม้งรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากจะเป็นการพบปะกันระหว่างกลุ่มญาติมีประเพณีขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้อาวุโส เป็นวันที่หนุ่มๆสาวๆในหมู่บ้านจะได้เลือกคู่ มีการจัดการแข่งขันกีฬาประเพณีและการละเล่นต่างๆ เช่น ลูกข่าง ลูกช่วง และยังมีการแข่งขันล้อเลื่อนไม้ชิงแชมป์ประเทศไทยซึ่งเป็นกีฬาที่ท้าทายน่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่นอกการละเล่นที่สร้างความสนุกสนานแล้วชาวม้งก็ไม่ลืมที่จะทำพิธีกรรมต้อนรับปีใหม่ซึ่งจัดเป็นพิธีกรรมที่ชาวม้งให้ความสำคัญกันมากโดยมี 4 อย่างดังนี้ วันดา วันขึ้นปีใหม่, วันที่สาม, วันที่สี่, การแข่งขันล้อเลื่อนไม้,

วันดา
   หรือ แรม 12 ค่ำ เดือน 1 ชาวม้งจะมีการเตรียมต้อนรับปีใหม่โดยทุกบ้านจะทำความสะอาดบ้านโดยใช้ใบไผ่กวาดบ้านเพื่อเอาสิ่งไม่ดีไปกับปีเก่า และจะมีพิธีเรียกขวัญโดยนำไก่ต้มสุก 1 คู่ มาทำพิธีบนแท่นบูชา โดยระหว่างงานปีใหม่นี้จะจุดธูปหรือตะเกียงไว้กลางบ้านตลอด แต่ละแซ่จะสอนสิ่งดีๆให้กับลูกหลาน ระหว่างที่สอนจะนำเม็ดข้าวโพดใส่ในกระด้งแล้วโยกไปมา ทุกวันของวันปีใหม่จะมีการจัดเลี้ยง แต่วันดาจะเป็นวันที่ดื่มเหล้ากันมากที่สุด กลางคืนของวันดานี้ทุกคนจะเฝ้ารอเสียงสัตว์ร้อง เพราะเสียงสัตว์ร้องเสียงแรกจะถือเป็นเวลาที่เริ่มต้นของวันปีใหม่ ถ้าเป็นเสียงไก่ร้องจะถือว่าดีที่สุด ทันทีที่ได้ยินเสียงสัตว์ร้องเสียงแรก ผู้ชายของทุกบ้านจะยิงปืนต้อนรับปีใหม่ และในเวลา 01.00 น. จะเทภาชนะที่บรรจุน้ำภายในบ้านทิ้งและตวงน้ำใส่ใหม่ ผู้หญิงจะเริ่มตำข้าวหุงข้าวเพื่อเตรียมเลี้ยงงานปีใหม่
ปัจจุบันชาวม้งได้เลื่อนการจัดปีใหม่ม้งไม่มีวันที่แน่นอน บางปีจัดวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 บางปีจัดวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 2 หรือบางปีจัดตรงกับปีใหม่สากลซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคม แต่ละปีจะจัดไม่เหมือนกันเพราะวิถีชีวิตและการดำรงชีพเริ่มแตกต่างไปจากเดิม

วันขึ้นปีใหม่
  (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ) ในวันนี้จะมีการละเล่นในหมู่บ้าน เช่น การเล่นลูกข่าง ซึ่งจะแข่งขันกัน ใครตีได้แม่นหรือลูกข่างหมุนได้นานก็จะเป็นฮีโร่ของงาน 

   นอกจากนี้วันนี้จะเป็นวันที่หนุ่มสาวจะเลือกคู่กันโดยใช้วิธีโยนลูกช่วง โดยหนุ่มๆสาวๆก็จะแต่งกายด้วยชุดสวยงาม ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายทำลูกช่วงซึ่งทำจากผ้าเป็นลูกกลมๆและวานให้เพื่อนหญิงหรือจะเป็นหญิงที่แต่งงานแล้วเป็นผู้นำลูกช่วงของตนไปมอบให้กับชายหนุ่มที่ตนพึงพอใจ และหญิงสาวที่ทำหน้าที่เป็นแม่สื่อนี้จะบอกกับชายหนุ่มว่าลูกช่วงนั้นเป็นของหญิงสาวคนใดเพื่อที่ชายหนุ่มจะได้นำลูกช่วงนี้ไปโยนหรือขว้างเล่นกับหญิงสาวผู้เป็นเจ้าของลูกช่วงต่อไป หรือหากผู้ชายหมายตาหญิงสาวคนใดไว้ก็จะไปขอโยนลูกช่วงด้วย ถ้าฝ่ายหญิงไม่พอใจก็จะไม่โยนด้วย ระหว่างที่ชายหนุ่มหญิงสาวโยนลูกช่วงก็จะพูดจาจีบกันในเวลานี้ ในส่วนใหญ่แล้วคู่โยนลูกช่วงจะมีการสู่ขอแต่งงานกันหลังงานปีใหม่ (ตามประเพณีเดิมแล้วถ้าผู้ชายพอใจก็จะฉุดหญิงสาวไปด้วยเลยแล้วค่อยมาทำการสู้ขอในภายหลัง) และวันนี้ในแต่หลังคาเรือนก็จะจัดเลี้ยงแขกที่เข้าไปเยี่ยมในบ้านซึ่งจะมีการตั้งวงร่ำสุรา ตามธรรมเนียมของชาวม้งแล้วจะมีการต้มเหล้าข้าวโพดเตรียมไว้สำหรับฉลองเทศกาลปีใหม่นี้ 

   ใครที่มีฝีมือดีก็จะต้มเหล้าได้ใสเป็นตาตั๊กแตน ผู้เขียนเคยได้ลองชิมเหล้าข้าวโพดนี้แล้วบอกได้เลยว่าทั้งหอมหวานรสชาดสู้กับเหล้าฝรั่งได้เลย ส่วนความแรงนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเวลาที่ดื่มเข้าไปนั้นก็ทราบทันทีเลยว่าเหล้าได้เดินทางไปถึงส่วนไหนของทางเดินอาหารแล้วประกอบกับความหวานของเหล้านั้นทำให้ดื่มได้เรทื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมาไปซะแล้ว 

ธรรมเนียมการนั่งในวงสุราจะนั่งตามผู้อาวุโส ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าจะนั่งทางด้านซ้ายมือของผู้ที่อาวุโสกว่า หากเราจะไปร่วมวงการร่ำสุรานี้ก็ต้องถามจากเขาก่อนว่าเราสามารถนั่งได้ตรงไปไหน ด้านหลังของวงเหล้าจะมีผู้ทำหน้าที่รินเหล้าหนึ่งคน จอกเหล้าสองจอก โดยจะเริ่มดื่มจากผู้อาวุโสที่หัวแถวก่อนแล้ววนไปทีละ สองจอกจนครบเก้ารอบ รอบสุดท้ายจะเป็นจอกใหญ่กับจอกเล็กเรียกว่าแม่วัวกับลูกวัว ทุกคนในวงต้องดื่มให้หมดเพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าบ้าน ถ้าใครดื่มไม่ไหวก็ต้องให้คนในครอบครัวมายืนข้างหลังคอยช่วยดื่ม

วันที่สาม
   (ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 1) เป็นวันที่จะไปดำหัวผู้เสียชีวิตไปแล้วที่หลุมศพ และถือเป็นวันสุดท้ายของปีใหม่ ไก่ที่ต้มไว้วันแรกต้องกินให้หมดวันนี้และดับธูปหือตะเกียงที่จุดไว้ตลอดปีใหม่

วันที่สี่
   เป็นวันที่ส่งผีกลับ ในตอนเช้าจะต้มไก่ใหม่ไว้บนโต๊ะ ผู้นำครอบครัวทำพิธีปล่อยผีกลับและบอกไว้ว่าถ้ามีอะไรจะเรียกผีนี้กลับมาช่วย ในหมู่บ้านชาวม้งบางหมู่บ้านจะมีต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้านเรียกว่า ดงเซ้ง ซึ่งต้องดูแลให้ดี หากไม่เช่นน้นจะทำให้เกิดเหตุร้ายขึ้นได้ 

และในวันที่สี่นี้หมู่บ้านที่มีดงเซ้งก็จะเข้าไปทำความสะอาดและพิธีที่ดงเซ้งนี้เพื่อขอพรให้อยู่ดีมีสุขก็เป็นหลังจากที่ทำพิธีกรรมทั้งหมดที่เล่ามานี้ ก็มาถึงการละเล่นพื้นบ้านที่สนุกสนานต่างๆของม้งที่มีมากมาย เช่น การตีลูกข่าง การยิงหน้าไม้ การหาบน้ำ การฝัดข้าว การโยนไข่ การประกวดแม่บ้านสมบูรณ์ การโยนลูกช่วงหรือประเพณีเกี้ยวสาวที่กล่าวไปข้างต้น แต่ที่เป็นไฮไลท์สุดก็ต้องเป็นกีฬาแข่งขันล้อเลื่อนไม้หรือโกคาร์ทชาวเขานั่นเอง

การแข่งขันล้อเลื่อนไม้ [ย่อ]
  ล้อเลื่อนชาวเขานี้ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวเขามาหลายชั่วอายุคนแล้ว โดยเหล่าชาวเขาได้คิดค้นพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันล้อเลื่อนไม้นี้ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์และจักรยานยนต์ไปแล้ว เหลือแต่การละเล่นและแข่งขันกันเพื่อความสนุกสนาน จากการแข่งขันกันใหม่หมู่เพื่อนฝูงก็กลายมาเป็นการแข่งขันกันระหว่างหมู่บ้านและมีทีท่าว่าจะขยายไปเรื่อยๆ เนื่องจากในปีนี้จะเห็นได้ว่าได้มีผู้สมัครแข่งขันจากหลากหลายที่ เช่น ชาวเขาจากดอยเต่า ดอยสุเทพ ดอยปุย นอกจากนี้แล้วก็ยังมีนักแสดงชื่อดังมาร่วมแข่งขันด้วย เช่น ลิฟท์, เจี๊ยบ ชวนชื่น, เอิร์ท ณัฐนันท์, อาจารย์ธัญธีรา ยิ้มอำนวย หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีปีใหม่ของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง

ล้อเลื่อนไม้สำหรับบรรทุกวัตถุดิบสำหรับดำรงชีวิตจากป่าหรือโกคาร์ทชาวเขานั้น จัดได้ว่าเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิต แสดงให้เห็นถึงดูแลครอบครัวของฝ่ายชายซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำและเป็นผู้ไปหาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ก็ยังแสดงให้เห็นถึงสังคมที่พึ่งพาอาศัยกันอีกด้วย ล้อเลื่อนไม้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนซึ่งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์กับธรรมชาติและมีขอบเขตจำกัดไม่สะสมมากเกินพอ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจแบบพึ่งพาอาศัยไม่แสวงหากำไร อีกทั้งการแข่งขันล้อเลื่อนไม้นี้ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม เป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กัน ความเท่าเทียมกันทางสังคมอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่วันนี้การแข่งขันล้อเลื่อนไม่เพียงเป็นกีฬาที่สร้างความสัมพันธ์และอนุรักษ์วัฒนธรรมระหว่างชาวม้งได้เป็นอย่างดี ทั้งยังคงสร้างความสนุกสนานระหว่างชาวบ้านที่แข่งกับคนดูซึ่งเป็นชาวเขาในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วสารทิศอีกด้วย และการแข่งขันนี้เชื่อไหมว่าเป็นการแข่งขันที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอีกด้วยเพราะการแข่งขันนี้ได้ลงข่าวในช่อง ESPN ซึ่งเป็นช่องข่าวกีฬาชื่อดังของโลกอีกด้วย หากใครสนใจจะไปเที่ยวงานปีใหม่ชาวม้งนั้นคงต้องดูปฏิทินกันล่วงหน้าก่อน เพราะเขากำหนดวันขึ้นปีใหม่กับแบบข้างขึ้นข้างแรมกันโดยจะอยู่ในช่วงราวเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมพาพันธ์ของทุกปี ซึ่งก็สามารถสอบถามข้อมูลล่วงหน้าจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้




ภาษาม้ง

ภาษาม้ง

ภาษาม้งอยู่ในตระกูลแม้ว-เย้า หรือม้ง-เมี่ยน ใช้กันในชาวม้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ บางส่วนของจีนจัดเป็นภาษาคำโดด โดยหนึ่งคำมีเสียงพยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ ไม่มีเสียงตัวสะกด มีวรรณยุกต์สนธิหรือการผสมกันของเสียงวรรณยุกต์เมื่อนำคำมาเรียงต่อกันเป็นประโยค ในประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ

1.ภาษาม้งเขียว หรือ ม้งจั๊ว (Hmong Njua) 
2.ภาษาม้งขาว หรือ ม้งเด๊อว (Hmong Daw) 

1.ภาษาม้งเขียว หรือ ม้งจั๊ว (Hmong Njua) 
ภาษาม้งเขียว หรือ ภาษาม้งจั๊ว (Hmong Njua) ภาษาม้งตะวันตก มีผู้พูดทั้งหมด 1,290,600 คน พบในจีน 1,000,000 คน (พ.ศ. 2525) ซึ่งรวมชาวบูนูที่เป็นชนกลุ่มเย้าแต่พูดภาษานี้เป็นภาษาแม่ 29,000 คนเข้าไปด้วย ในบริเวณกุ้ยโจว เสฉวน และยูนนาน พบในลาว 145,600 คน (พ.ศ. 2538)ทางภาคเหนือ พบในพม่า 10,000 คน (พ.ศ. 2530) พบในไทย 33,000 คน ในจังหวัดตาก น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เชียงราย พะเยา เลย สุโขทัย แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี พบในเวียดนาม ทางภาคเหนือ พบได้บ้างในจังหวีดทางภาคใต้เช่น จังหวัดดักลัก มีผู้พูดภาษานี้ในฝรั่งเศส และสหรัฐด้วย

เข้าใจกันได้กับภาษาม้งขาว จัดอยู่ในตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน ภาษากลุ่มม้ง เรียงประโยคแบบประธาน-กรรม-กริยา มีวรรณยุกต์ 3 เสียง

2.ภาษาม้งขาว หรือ ม้งเด๊อว (Hmong Daw)
ภาษาม้งขาว หรือ ภาษาม้งเด๊อว (Hmong Daw) มีผู้พูดทั้งหมด 514,895 คน พบในจีน 232,700 คน (พ.ศ. 2547) ทางตะวันตกของกุ้ยโจว ทางใต้ของเสฉวน และยูนนาน พบในลาว 169,800 คน (พ.ศ. 2538) ทางภาคเหนือ พบในไทย 32,395 คน (พ.ศ. 2543) ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร แพร่ พะเยา อุตรดิตถ์ ลำปาง ในเวียดนามพบทางภาคเหนือพบได้บ้างในจังหวีดทางภาคใต้เช่น จังหวัดดักลัก มีผู้พูดภาษานี้ในฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาด้วย

เข้าใจกันได้กับภาษาม้งเขียว จัดอยู่ในตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน ภาษากลุ่มม้ง เป็นภาษาที่มีพยัญชนะมาก บางเสียงไม่มีในภาษาไทย ไม่มีเสียงตัวสะกด ไม่มีความต่างระหว่างสระเสียงสั้นกับสระเสียงยาว เสียงวรรณยุกต์ มี 8 เสียงคือ

เสียงต่ำ-ตก มีการกักเส้นเสียงตอนท้ายทำให้สระเสียงสั้นกว่าปกติ คล้ายเยงเอกกึ่งเสียงโทในภาษาไทย 
เสียงต่ำ-ขึ้น คล้ายเสียงจัตวาในภาษาไทย 
เสียงกลาง-ระดับ คล้ายเสียงสามัญในภาษาไทย 
เสียงต่ำ-ระดับ คล้ายเสียงเอกในภาษาไทย 
เสียงกลาง-ตก คล้ายเสียงโทในภาษาไทย แต่ต่ำกว่าและมีลมออกมามาก 
เสียงสูง-ขึ้น คล้ายเสียงตรีในภาษาไทย 
เสียงสูง-ตก คล้ายเสียงโทในภาษาไทย 
เสียงกลาง-ขึ้น คล้ายเสียงจัตวาในภาษาไทย แต่เสียงเริ่มต้นสูงกว่า และเลื่อนขึ้นสูงกว่า เสียงนี้พบน้อย 

ไม่มีอักษรเป็นของตนเอง มีผู้สนใจภาษาม้งพยายามประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้เขียน เช่น อักษรม้ง อักษรพอลลาร์ด เมียว ที่เป็นที่นิยมแพร่หลายคืออักษรละติน ในประเทศไทยบางครั้งเขียนด้วยอักษรไทย สำหรับการเขียนด้วยอักษรละตินมี พยัญชนะที่ใช้ทั้งหมด 26 ตัว 

วรรณยุกต์ มี 8 และสระมี 14 ตัว ได้แก่


การเรียงคำเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม เช่น เด๋เตาะหมี (หมากัดแมว) ไม่มีการเปลี่ยนรูปคำเพื่อแสดงกาล แต่ใช้การเติมคำบอกกาลเช่นเดียวกับภาษาไทย อดีตเติมคำว่าเหลอะไว้ท้ายประโยค เช่น เด๋เตาะหมีเหลอะ (หมากัดแมวแล้ว) อนาคตใช้คำว่าหยัววางไว้หน้ากริยา เช่น เด๋หยัวเตาะหมี (หมาจะกัดแมว) ประโยคปฏิเสธเติมคำว่าไม่ (จี่ หรือ ทจี่) หน้าคำกริยา เช่น เด๋ทจี่เตาะหมี (หมาไม่กัดแมว) ประโยคคำถามเติมคำว่าปั่วหรือหลอเข้าในประโยค คำว่าหลอนิยมวางไว้ท้ายประโยค ส่วนคำว่าปั่วนิยมวางไว้หน้ากริยา เช่น เด๋เตาะหมีหลอ หรือ เด๋ปั่วเตาะหมี (หมากัดแมวหรือ)

ภาษาม้งมีการใช้คำลักษณนามโดยจะเรียงคำแบบ จำนวนนับ-ลักษณนาม-นาม เช่น อ๊อตู่แหน่ง (สอง-ตัว-ม้า) คำลักษณนามที่สำคัญคือ ตู่ใช้กับสิ่งมีชีวิตทั้ง คน สัตว์และต้นไม้ ตร๊า ใช้กับเครื่องมือ เครื่องใช้ อาวุธ ได่ ใช้กับสิ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ แส้ฮ ใช้กับสิ่งที่เป็นเส้นยาวหรือเวลานานๆ ลู้ใช้กับคำนามทั่วไป จ๋อใช้กับคำนามที่มีมากกว่าหนึ่ง เช่น จ๋อแหน่ง (ม้าหลายตัว)
พยัญชนะ
ในภาษาม้งมีทั้งหมด 57 ตัวแยกเป็น พยัญชนะตัวเดียว พยัญชนะควบกล้ำ 2 ตัว พยัญชนะควบกล้ำ 3 ตัว และพยัญชนะควบกล้ำ 4 ตัว ดังต่อไปนี้คือ

พยัญชนะตัวเดียว มีทั้งหมด 18 ตัว t k p s x l n h m g q v r z y c f 
พยัญชนะควบกล้ำ 2 ตัว มีทั้งหมด 22 ตัว kh qh ch ts ny hn th nt np ph tx xy hl nk nq nr dh rh nc pl hm mlหรือnl 
พยัญชนะควบกล้ำ 3 ตัว มีทั้งหมด 14 ตัว tsh nth txh nts nph nrh hmlหรือhnl nkh nqh nch ntx npl plh hny 
พยัญชนะควบกล้ำ 4 ตัว มีทั้งหมด 3 ตัว ntsh ntxh nplh 
วรรณยุกต์

ทั้งหมดมี 7 เสียงที่ใช้การในปัจจุบันของม้ง ได้แก่

สั้วปอก (suab pom) ใช้ตัว m เช่น niam koom 
สั้วหนือ (suab nws) ใช้ตัว s เช่น nias mus 
สั้วยอ (suab yog) ใช้ตัว g เช่น niag tug 
สั้วเต๋อ (suab ntawd) ใช้ตัว d เช่น จะใช้เฉพาะคำว่า เต๊อ ntawd จะไม่สามารถใช้กับคำอื่นได้ 
สั้วกู๊ (suab kuv) ใช้ตัว v เช่น niav pev 
สั้วก้อ (suab koj) ใช้ตัว j เช่น niaj ntuj 
สั้วเป๊ะ (suab peb) ใช้ตัว b เช่น niab neeb 

สระ
ได้แก่ สระอา (a) สระอี (i) สระ เอ (e) สระอื (w) สระอู (u) สระออ (o) สระโอง (oo) สระอาง (aa) สระเอง (ee) สระเออ (aw) สระเอีย (ia) สระเอา (au) สระอัว ( ua) สระ ไอ (ai) 

คำศัพท์

อวัยวะ

ภาษาม้ง คำอ่าน คำแปล 
1 taub hau เต๊า-เฮา หัว 
2 caj dab จ้า-ด๊า คอ 
3 hauv caug เหา-เจ่า เข่า 
4 caj npaab จี้ -บั้ง แขน 
5 txhais tes ไฉ่ เต่ มือ 
6 ntiv tes ดี๋-เต่ นิ้วมือ 
7 nruab qaum นจั๊ว เขา หลัง 
8 sab ceg ซะ-เจ่ ขา 
9 txhais ko taw ไฉ่ กอ เตอ เท้า 
10 ntsej muag เจ้-หมั่ว หน้า 
11 pob ntxeg ป๊อ -เจก หู 
12 plaub hau เปล๊า-เฮา ผม 
13 plab ปล๊า ท้อง 
14 ghov muag ขอ-หมั่ว ตา 
15 ghov ncauj ขอ-เจ้า ปาก 
16 nplaig ไบล่ ลิ้น 

สี
ภาษาม้ง คำอ่าน คำแปล 
1 dub ดู้ ดำ 
2 xiav เสีย สีน้ำเงิน 
3 liab daj เลี้ย-ด้า น้ำตาล 
4 ntsuab จั๊ว เขียว 
5 liab dawb muag เลีย-เกอะ-มัว ชมพู 
6 liab เลี้ย แดง 
7 daj ด้า เหลือง 
8 dawb เดอะ ขาว 
9 paj yeeb ป้า-เย้ง สีบานเย็น 

คำอื่นๆที่มักใช้บ่อย
กู้เหนียก้อ = ฉันรักเธอ kuv nyiam koj 
กู๋จี่เหนียก้อ = ฉันไม่รักเธอ kuv tsis nyism koj 
มูตื่อหลอ = ไปไหนมา mus twg lo 
เห่าเดร้ = เฮ้าเดร่ กินน้ำ haus dej 
สาเหาเดร้ = อยากกินน้ำ sav haus dej 
หนัวเกเป่เจื่อ = อันนี้ราคาเท่าไหร่ khov no peg tsawg 
น้อหมอหล่อจี่เตา = กินเข้าหรือยัง noj mov lo tsis tau 
อี้ =หนึ่ง ib 
อ้อ=สอง ob 
เป๊=สาม peb 
เปล๊า=สี่ plaub 
จี๊=ห้า txib 
เจา=หก rau 
ซยาง=เจ็ด xya 
หยี=แปด yim 
จั้ว=เก้า tsuaj 
เก๋า=สิบ kaum 

อ้างอิง
^ http://hmongstudies.org/LemoineHSJ6.pdf Lemoine, Jacques. "What is the actual number of the (H) mong in the World." Hmong Studies Journal, Vol 6, 2005. 
สุริยา รัตนกุล. พจนานุกรมภาษาไทย-ม้ง. กทม. โรงพิมพ์เกษมสัมพันธ์การพิมพ์. 2515 
สุจริตลักษณ์ ดีผดุง. สารานุกรมกลุ่มชาติพันธ์: ม้ง. กทม. สถาบันวิจัยวัมนธรรมและภาษาเพื่อการพัฒนาชนบท. 2538 
ศัพทานุกรมไทย-คำเมือง-ม้งขาว-กะเหรี่ยงสะกอ-มูเซอดำสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์และสัตวแพทย์เพื่อการพัฒนุณภาพชีวิตของชาวชนบท. กทม. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2530 
ดึงข้อมูลจาก 



วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประวัติม้ง

ประวัติม้ง

มีนิยายปรัมปราของชาวม้งซึ่งได้เล่าสืบต่อกันมา กล่าวไว้ว่า ถิ่นกำเนิดของม้งอยู่ที่มุมหนึ่งของโลก เป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็น ปกคลุมด้วยหิมะ น้ำตามลำธารจับตัวเป็นน้ำแข็ง มีเวลากลางคืนและกลางวันยาวนานถึง 6 เดือน จึงเป็นการน่าเชื่อว่าชาวม้งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณ มองโกเลีย หรือแม้แต่ทางเหนือของสแกนดิเนเวีย หรือ บริเวณขั้วโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม โดยที่เห็นว่า ม้ง มีลักษณะ หน้าตา ภาษา และความเชื่อทางศาสนาไม่เหมือนใคร บาทหลวงซาวีนา จึงเชื่อว่า ม้งไม่เหมือนชนชาติใดๆ ในทวีปเอเชีย และมีแหล่งกำเนิดจากที่แห่งหนึ่งในแคว้นเมโสโปเตเมีย จากประวัติศาสตร์ของจีน สันนิฐานได้ว่า ชาวม้งอยู่ในประเทศจีนมาก่อนชาวจีน และมีอาณาจักรของตนเองอยู่อย่างสงบสุขมาเป็นเวลานาน ต่อมาชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่นำฮวงโห (แม่นำเหลือง) และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาด้วยการสู้รบขับไล่ชนชาติต่างๆ ที่เป็นบรรพบุรุษของชนชาติไทย ชนชาติม้ง และชนชาติอื่นๆ การต่อสู้ระหว่างบรรพบุรุษของชนชาติม้งและชนชาติจีนได้เป็นไปอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ในสมัยราชวงศ์แมนจู (เหม็ง) หรือคริสศตวรรษที่ 17 กษัตริย์ในราชวงศ์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปรามให้ชาวม้งยอมจำนนโดยสิ้นเชิง จึงได้มีการต่อสู้อย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ที่เมืองพังหยุน ในปี ค.ศ. 1466 ในมณฑลไกวเจา ในระหว่าง ปี ค.ศ. 1733-1735 ในมณฑลเสฉวนและไกวเจา ระหว่างปี 1763-1775 สำหรับการสู้รบกับจีนครั้งหลังสุด เป็นช่วงเวลาประมาณ ปี ค.ศ. 1855-1881 ชาวม้งได้พ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งจึงหลบหนึเข้าไปอยู่ตามป่าตามเขา ร่นไปทางตะวันตก มณฑลเสฉวน และทางใต้ มณฑลตังเกี๋ย และมณฑลยูนนาน ระหว่างการสู้รบศึกสงครามชาวม้งได้อาศัยภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรูและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับความเป็นชนชาติที่รักอิสระ ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มเย็นและกว้างใหญ่ไพศาล การอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงจึงได้กลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชนชาติม้งในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งมีการกล่าวกันว่า "น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก แต่ภูเขาเป็นของม้ง" ชาวม้งได้อพยพผ่านประเทศเวียตนาม ลาว และในที่สุด ถึงประเทศไทย จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านที่มีอายุร่วมร้อยปี กล่าวว่าพวกเขาเกิดในแผ่นดินไทย และส่วนใหญ่กล่าวว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเป็นนักรบเดินทางมาจากประเทศจีน ขณะที่ศูนย์วิจัยชาวเขาที่เชียงใหม่มีความเห็นว่า ชาวม้งกลุ่มแรกๆ ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณเมื่อ ปี ค.ศ. 1850 ฉะนั้น ชาวม้งจึงน่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ประมาณ 150 ปีมาแล้ว โดยมีเส้นทางอพยพเข้ามา 3 จุดใหญ่ๆ คือ 


1. เป็นจุดที่ชาวม้งเข้ามามากที่สุด อยู่ทางทิศเหนือสุดหรือแนวเมืองคาย - ห้วยทราย - เชียงของ 
2. อยู่ในแนว สายบุรี (ลาว) - อ. ปัว จ. น่าน 
3. เป็นจุดที่เข้ามาน้อยที่สุด อยู่ในแนว ภูเขาคาย (ใกล้เวียงจันทร์) - จังหวัดเลย 

จากการสำรวจของ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลกลางชุมชนบนพื้นที่สูง กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปี 2541 ได้สรุปจำนวนประชากรชาวม้งว่ามีประมาณ 126,300 คน อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดเขตภาคเหนือ คือ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย พะเยา และ เลย 
ชาวม้งในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ 
1. ม้งจั๊ว (ม้งเขียว หรือ น้ำเงิน) 
2. ม้งเดอะ (ม้งขาว) 
3. ม้งจ้ายบ๊าง (ม้งลาย) 

...บางที่มา ... 

ประวัติและความเป็นมา (History of the Hmong people) 

ยังไม่มีผู้ใดสามารถสรุปได้ว่า ชนชาติม้ง มาจากที่ไหน แต่สันนิษฐานกันว่า ม้ง คงจะอพยพมาจากที่ราบสูงธิเบต ไซบีเรีย และมองโกเลีย เข้าสู่ประเทศจีน และตั้งหลักแหล่งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งชาวเขาเผ่าม้งจะตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลไกวเจา ฮุนหนำ กวางสี และมณฑลยูนาน ม้งอาศัยอยู่ในประเทศจีนมาหลายศตรรษ จนกระทั่ง ประมาณคริสตศตวรรษที่ 17 ราชวงค์แมนจู (เหม็ง) มีอำนาจในประเทศจีน กษัตริย์จีนในราชวงค์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปราม เพราะเห็นว่าม้งที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่แล้วรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนรัสเซีย ทำให้คนจีนคิดว่า ม้งเป็นคนรัสเซีย จึงเป็นเหตุให้มีการปราบปรามม้งเกิดขึ้น โดยให้ชาวม้งยอมจำนน และยอมรับวัฒนธรรมของจีน จึงได้มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ในเมืองพังหยุนในปี พ.ศ.2009 และการต่อสู้ในมณฑลไกวเจาในระหว่าง พ.ศ. 2276 - 2278 และการต่อสู้ในมณฑลเสฉวนในระหว่าง พ.ศ. 2306 – 2318 


ชาวม้ง ประสบกับความพ่ายแพ้ สูญเสียพลรบ และประชากรเป็นจำนวนมาก ในที่สุด ม้ง ก็เริ่มอพยพถอยร่นสู่ ทางใต้ และกระจายเป็น 
กลุ่มย่อย ๆ กลับขึ้นอยู่บนที่สูงป่าเขาในแคว้นสิบสองจุไทย สิบสองปันนา และอีกกลุ่มได้อพยพไปตามทิศตะวันออกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรลาว 
บริเวณทุ่งไหหิน เดียนเบียนฟู และอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. 2400 เศษ เป็นต้นมา 

ชาวม้ง ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูเขาสูง หรือที่ราบเชิงเขาในเขตพื้นที่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำปาง กำแพงเพชร เลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 151,080 คน